ความร่วมมือ มัลเบอร์รี่ ซอฟต์

คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ผนึกกำลังผู้ประกอบการชั้นนำด้านไอที 7 บริษัท ร่วมลงนามความร่วมมือโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ กระตุ้นการผลิตบัณฑิตให้พร้อมใช้งานตามมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านไอที

เมื่อวันที่ 12 เดือน พฤศจิกายน พ.ศ. 2562 ณ ห้องประชุมไอซีที คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับบริษัท 7 บริษัท ด้าน ดร.พรเทพ โรจนวสุ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า การลงนาม MOU เป็นความร่วมมือระหว่างคณะ ICT ม.พะเยา กับสถานประกอบการ 7 บริษัท ได้แก่ คุณราเมศวร์ ศิลปพรหม จากบริษัท ซอฟต์สแควร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด คุณภวิศ เกษสุข จากบริษัท ทเวนตี้ สกู๊ป ซีเอ็นเอ็กซ์ จำกัด คุณณัฐดนัย หอมคง จากบริษัท บิ๊ก ดาต้า เอเจนซี่ จำกัด คุณวัชพล จันทร์โอภาส จากบริษัท ไอเกียกีค จำกัด คุณวัฒนพล คำนวณศิลป์ จากบริษัท วีเว็บพลัส จำกัด คุณนัษฐ์ ศรีไสววิไล จากบริษัท มัลเบอร์รี่ ซอฟต์ จำกัด และ บริษัท อาร์ติซาน ดิจิตอล เอเชีย จำกัด เพื่อบูรณาการความรู้ด้านวิชาการและทักษะวิชาชีพ เพื่อนำไปสู่การสร้างบัณฑิตที่มีความรู้ ความสามารถที่พร้อมใช้งานตามมาตรฐานอุตสาหกรรมด้านไอที ซึ่งโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่เป็นหลักสูตรที่นิสิตนักศึกษาที่มีการจัดการเรียน การสอน โดยเรียนกับทางมหาวิทยาลัยและเรียนกับภาคเอกชนฝั่งละ 50% ของเวลาเรียนทั้งหมด โดยมีอาจารย์จากคณะฯ เป็นผู้กำกับดูแลองค์ความรู้ด้านวิชาการ ส่วนภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการส่งบุคลากรเข้าร่วมเป็นอาจารย์พิศษประจำหลักสูตร ช่วยฝึกสอนวิชาชีพให้ได้ตามมาตรฐาน และความต้องการของภาคเอกชน นอกจากนี้ภาคเอกชนหรือผู้ประกอบการได้มีส่วนร่วมในการวางแผนให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการในแต่ละสาขาวิชาด้วย ซึ่งสาขาวิชาวิศวกรรมซอฟต์แวร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นสาขาวิชาที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา

โดยมีรองศาสตราจารย์ ดร.ฐิติรัตน์ เชี่ยวสุวรรณ รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและสารสนเทศ มหาวิทยาลัยพะเยา เป็นผู้กล่าวให้การต้อนรับผู้ประกอบการทั้ง 7 บริษัท และกล่าวเปิดงาน และมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.น้ำเงิน จันทรมณี ผู้ช่วยอธิการบดี ร่วมเป็นเกียรติในพิธีลงนามฯ  จากนั้นเป็นพิธีส่ง มอบอุปกรณ์การศึกษา จำนวน 10 รายการ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 70,000 บาท (เจ็ดหมื่นบาท) ซึ่งสถานประกอบการทั้ง 7 บริษัท ได้ร่วมกันสนับสนุน เพื่อใช้ประโยชน์ภายในคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารต่อไป

ซึ่งหลังจากเสร็จสิ้นพิธีลงนามความร่วมมือ ฯ ทางคณะเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารยังได้มีการประชุมปรึกษาหารือกับบริษัท 7 บริษัท พร้อมทั้งติดตามและประเมินผลการเรียนรู้โครงงานร่วมกับสถานประกอบการ อีกทั้งยังมีการนำเสนอผลการดำเนินงานของนิสิตในโครงการผลิตบัณฑิตพันธุ์ใหม่ ภายใต้ความร่วมมือของบริษัท เพื่อนำเสนอผลงานที่ได้ไปเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในการทำงานตามสถานประกอบการต่าง ๆ ที่เข้าร่วมโครงการฯ

ที่มา https://www.up.ac.th/NewsRead.aspx?itemID=20053